วันอาทิตย์ที่ 7 กรกฎาคม พ.ศ. 2556

ประชาคมอาเซียน


ประชาคมอาเซียน





"ประชาคมอาเซียน" (ASEAN Community) เกิดจากสมาคมแห่งประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (The Association of Southeast Asian Nations-ASEAN) หรือ "อาเซียน" โดยอาเซียนเดิม ได้ถือกำเนิดจากการประกาศ "ปฏิญญากรุงเทพฯ" (Bangkok Declaration) โดยมีประเทศสมาชิกเมื่อเริ่มก่อตั้งรวม 5 ประเทศ ได้แก่ อินโดนีเซีย ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ และ สิงคโปร์ เมื่อปี 2510 เพื่อ ส่งเสริมความร่วมมือและช่วยเหลือซึ่งกันและกันในทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยี วิทยาศาสตร์ และ การบริหาร

ช่วงก่อตั้งอาเซียนได้ผ่านการพัฒนาหลายด้าน มีการประกาศปฏิญญาอีกหลายฉบับ เพื่อขยายความร่วมมือให้ใกล้ชิดและหลากหลายในหลายเรื่องได้แก่ปฏิญญาว่าด้วยเขตแห่งสันติภาพและความเป็นกลาง (Declaration on the Zone of Peace, Freedom and Neutrality) ในปี 2514 ปฏิญญาสมานฉันท์อาเซียน (Declaration of ASEAN Concord) ซึ่งมีการตกลงก่อตั้งสำนักเลขาธิการอาเซียนขึ้นที่ กรุงจาการ์ต้า ประเทศอินโดนีเซีย สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation in Southeast Asia) หรือ TAC ซึ่งกำหนดหลักการในการดำเนิน ความสัมพันธ์ในภูมิภาคของอาเซียนช่วงหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง อาเซียนได้ขยายวงสัมพันธภาพออกไปสู่ประเทศโดยรอบที่เคยอยู่ในค่ายคอมมิวนิสต์มาก่อน และเพิ่มสมาชิกขึ้นเป็น 10 ประเทศ โดยเวียดนาม ได้เข้าเป็นสมาชิกเมื่อปี 2538 ประเทศสาธารณรัฐประชาชนลาว และพม่า ในปี 2540 และ กัมพูชาได้เป็นสมาชิกรายที่ 10ซึ่งเป็นรายสุดท้ายที่เข้าร่วมในอาเซียน เมื่อปี 2542เมื่อเดือนธันวาคม 2540 ผู้นำอาเซียน

ได้รับรองเอกสาร "วิสัยทัศน์อาเซียน 2020" กำหนดเป้าหมายหลัก 4 ประการ เพื่อมุ่งพัฒนาอาเซียนไปสู่ "ประชาคมอาเซียน" (ASEAN Community)ให้เป็นผลสำเร็จภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งจะประกอบด้วย "เสาประชาคมหลักรวม 3 เสา" ได้แก่ ประชาคมความมั่นคงอาเซียน ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และ ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน รวมทั้งจัดโครงสร้างองค์กรของอาเซียน รองรับภารกิจและพันธกิจ รวมทั้งแปลงสภาพอาเซียนจากองค์กรที่มีการรวมตัวหรือร่วมมือกันแบบหลวมๆเพื่อสร้างและพัฒนามาสู่สภาพการเป็น "นิติบุคคล" ซึ่งเป็นที่มาของการนำหลักการนี้ไปร่างเป็น"กฎบัตรอาเซียน" ซึ่งทำหน้าที่เป็น "ธรรมนูญ" การบริหารปกครองกลุ่มประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศซึ่งผนึกกำลังเป็นหนึ่งเดียวกัน ดังปรากฏตามสโลแกนที่ว่า "สิบชาติ หนึ่งอาเซียน"

จุดเริ่มต้นที่เป็นรูปธรรมได้สร้างความ เป็น "ประชาคมอาเซียน" เกิดขึ้นภายหลังจากการประชุมอาเซียนซัมมิท ครั้งที่ 14 โดยการประกาศใช้ "กฎบัตรอาเซียน" (ASEAN Charter) จะมีวิถีการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่และสำคัญ คือเป็นการปรับองค์กรในการทำงานแบบ การรวมกลุ่มที่มี"กฎ" เป็นฐานที่สำคัญ (Rule-Based) สมาชิกทั้ง 10 ประเทศจะต้องปฏิบัติตามพันธะข้อตกลง มีการกำหนด"กลไกระงับข้อพิพาท" พร้อมกับสร้าง "อาเซียน" ให้มีสถานะเป็น "นิติบุคคล" มีการปรับให้เป็นองค์กรที่มี"ประชาชน" เป็นศูนย์กลาง ทำให้เกิดประสิทธิภาพของการรวมกลุ่มมากขึ้น ทำให้เกิด "กระบวนการตัดสินใจ"จาก การประชุมระดับผู้นำ ซึ่งจะปรากฏเป็น คณะมนตรี หรือ (Councils) ของอาเซียนขึ้นทำหน้าที่เป็น 3 เสาหลัก ได้แก่ เสาหลักทางด้านการเมืองและความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรมมีการเพิ่มอำนาจ "สำนักเลขาธิการ"(Secretariat) และผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการ (Secretary General) นอกจากนี้ ประชาคมอาเซียนยังมีการจัดสรรงบประมาณที่เพียงพอ และลดช่องว่างระหว่างสมาชิกของอาเซียนลงวัตถุประสงค์ที่ปรากฏใน




"กฎบัตร" แยกตามเสาหลักที่สำคัญทั้ง 3 เสา อาจสรุปให้เห็นเป็นสังเขป ดังนี้
เสาหลัก 1 ความร่วมมือในด้านการเมืองและความมั่นคง
ในด้านการเมืองและความมั่นคง อาเซียนมีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างสถานะที่จะอำนวยต่อการสร้างประชาคมอาเซียน ให้สำเร็จภายในปี 2558 ซึ่งจะทำให้ประชาคมอาเซียนในด้านการเมืองความมั่นคงมีความแข็งแกร่งและน่าเชื่อถือ ความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคงของอาเซียนที่สำคัญ ได้แก่
1. สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC)
สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จัดทำขึ้นโดยประเทศสมาชิกอาเซียน 5 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์ และไทย เมื่อปี 2519 เพื่อกำหนดหลักการพื้นฐานของความร่วมมือ และการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างกันของประเทศสมาชิกหลักการสำคัญของสนธิสัญญา ซึ่งประเทศสมาชิกอาเซียนยึดถือและยอมรับในการปฏิบัติตาม ได้แก่
1.1 เคารพในเอกราช การมีอำนาจอธิปไตย ความเท่าเทียมกัน ความมั่นคงทางดินแดนและเอกลักษณ์แห่งชาติของทุกประเทศ
1.2 ปราศจากการแทรกแซงจากภายนอก การโค่นล้มอธิปไตย หรือการบีบบังคับจากภายนอก
1.3 การไม่แทรกแซงกิจการภายในซึ่งกันและกัน
1.4 การแก้ไขปัญหาความขัดแย้งหรือข้อพิพาทโดยสันติวิธี
1.5 การยกเลิกการใช้การคุกคามและกองกำลัง
1.6 การมีความร่วมมือที่มีประสิทธิภาพระหว่างกัน
เมื่อเดือนธันวาคม 2530 ได้มีการแก้ไขสนธิสัญญาเพื่อเปิดทางให้ประเทศที่อยู่นอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สามารถเข้าร่วมเป็นภาคีได้ ซึ่งช่วยเสริมสร้างโครงสร้างความมั่นคงและสันติภาพให้มีความเข้มแข็งยิ่งขึ้น ปัจจุบันประเทศที่เข้าร่วมเป็นภาคีในสนธิสัญญา TAC ได้แก่ สมาชิก อาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน และประเทศที่เข้าร่วมการประชุมอาเซียนว่าด้วย การเมืองและความมั่นคงในเอเชีย-แปซิฟิก เช่น จีน อินเดีย ญี่ปุ่น รัสเซีย เกาหลีใต้ และนิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย แคนาดา สหรัฐฯ และสหภาพยุโรปได้แจ้งความจำนงอยากเข้าร่วมเป็นภาคี
2. สนธิสัญญาเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์แห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty on the Southeast Asia Nuclear-Free Zone : SEAN-FZ)
ประเทศสมาชิกอาเซียน ลงนามในการประชุมสนธิสัญญาในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 15ธันวาคม 2538 วัตถุประสงค์หลักของสนธิสัญญา คือ ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตปลอดอาวุธนิวเคลียร์ โดยประเทศที่เป็นภาคีจะไม่พัฒนา ไม่ผลิต ไม่จัดซื้อ ไม่ครอบครอง รวมทั้งไม่เป็นฐานการผลิต ไม่ทดสอบ ไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาค และไม่ให้รัฐใดปล่อยหรือทิ้งวัสดุอุปกรณ์ที่เป็นกัมมันภาพรังสีลงบนพื้นดิน ทะเลและอากาศ นอกจากนี้ 5 ประเทศอาวุธนิวเคลียร์ ได้แก่ จีนสหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส รัสเซีย และสหราชอาณาจักร (ห้าสมาชิกผู้แทนถาวร ของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ) ได้ยอมรับและให้ความเคารพสนธิสัญญา โดยจะไม่ละเมิดและไม่แพร่กระจายอาวุธนิวเคลียร์ในภูมิภาคนี้
3. ปฏิญญากำหนดให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นเขตแห่งสันติภาพ
เสรีภาพ และความเป็นกลาง (Zone of Peace,Freedom and Neutrality หรือ ZOPFAN) เป็นการแสดงเจตนารมณ์ของอาเซียน ให้ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ปลอดการแทรกแซงจากภายนอก เพื่อเป็นหลักประกันต่อสันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาคและเสนอให้อาเซียนขยายความร่วมมือให้ครอบคลุมทุกๆ ด้าน อันจะนำมาซึ่งความแข็งแกร่ง ความเป็นปึกแผ่นและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิก ได้ประกาศลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศของรัฐสมาชิกอาเซียน ซึ่งในขณะนั้นประกอบด้วยประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์และประเทศไทย เมื่อวันที่ 27 พฤศจิกายน 1971 ณ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย
4. การประชุมอาเซียนว่าด้วยความร่วมมือด้านการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก หรือ ASEAN Regional Forum (ARF)
จัดขึ้นเพื่อเป็นเวทีสำหรับปรึกษาหารือ (Consultative forum) โดยมีวัตถุประสงค์ที่มุ่งส่งเสริมสันติภาพโดยการเสริมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจ ความร่วมมือ และความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน ประเทศอาเซียนกับคู่เจรจา และประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกในเรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองและความมั่นคง โดยมีทั้งผู้แทนฝ่ายการทูตและการทหารเข้าร่วมการประชุมการหารือด้านการเมืองและความมั่นคงในกรอบ ARF ได้กำหนดพัฒนาการของกระบวนการ ARF เป็น 3 ขั้นตอน ได้แก่
ขั้นตอนที่ 1 ส่งเสริมการสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน (Confidence Building)
ขั้นตอนที่ 2 การพัฒนาการทูตเชิงป้องกัน (Preventive Diplomacy)
ขั้นตอนที่ 3 การแก้ไขความขัดแย้ง (Conflict Resolution)
การประชุมระดับรัฐมนตรี ARF ครั้งแรกจัดขึ้นที่กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2537 ปัจจุบัน ประเทศที่เป็นสมาชิกการประชุมว่าด้วยการเมืองและความมั่นคงในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมี 27 ประเทศ ประกอบด้วย ประเทศสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ คือ ไทย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย พม่า ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และเวียดนาม ประเทศคู่เจรจาของอาเซียน ประเทศ ผู้สังเกตการณ์ของอาเซียน และประเทศอื่นในภูมิภาค อันได้แก่ ออสเตรเลีย บังคลาเทศ แคนาดา จีน อินเดีย ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนเกาหลี(เกาหลีเหนือ) มองโกเลียนิวซีแลนด์ ปากีสถาน ปาปัวนิวกินี รัสเซีย ติมอร์-เลสเต ศรีลังกา สหรัฐอเมริกา และสหภาพยุโรป
5. ASEAN Troika ผู้ประสานงานเฉพาะกิจในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ในวันที่ 28 พฤศจิกายน 2542 ณ กรุงมะนิลา ผู้นำของประเทศสมาชิกอาเซียนได้เห็นชอบ ในการจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานเฉพาะกิจในระดับรัฐมนตรี (ASEAN Troika) ซึ่งประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศที่ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการประจำของอาเซียนในอดีต ปัจจุบัน และอนาคต และจะหมุนเวียนกันไปตามการเป็นประธานการประชุม วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งกลุ่มผู้ประสานงานเฉพาะกิจ ASEAN Trioka คือ
5.1 เป็นกลไกให้อาเซียนสามารถร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดในการหารือแก้ไขปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค โดยไม่ก้าวก่ายกิจการภายในของประเทศสมาชิกเป็นการยกระดับความร่วมมือของอาเซียนให้สูงขึ้น และเสริมสร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันของอาเซียน รวมทั้งเพิ่มประสิทธิภาพของการดำเนินงานโดยรวม
5.2 เพื่อรองรับสถานการณ์ และจะดำเนินการโดยสอดคล้องกับแนวทางปฏิบัติในสนธิสัญญา และข้อตกลงต่างๆ ของอาเซียน เช่น สนธิสัญญาไมตรีและความร่วมมือในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Treaty of Amity and Cooperation หรือ TAC)
6. กรอบความร่วมมือทางทหาร (ASEAN Defense Ministerial Meeting -ADMM) เพื่อสร้างเครือข่ายและความสัมพันธ์ที่ใกล้ชิดระหว่างฝ่ายทหารของประเทศสมาชิก ความร่วมมือ ด้านการป้องกันยาเสพติด การต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติและการก่อการร้าย โดยเฉพาะประเด็นหลังนี้อาเซียนได้ลงนามในอนุสัญญาอาเซียนว่าด้วยการต่อต้านการก่อการร้าย ในปี 2550
7. ความสัมพันธ์กับประเทศนอกภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการเมืองความมั่นคงที่สมดุลและสร้างสรรค์ระหว่างกัน โดยผ่านเวทีหารือระหว่างอาเซียนกับประเทศ คู่เจรจา ได้มีการประชุมสุดยอดเอเซียตะวันออก (East Asia Summit – EAS) และกระบวนการอาเซียน+3
เสาหลัก 2 ความร่วมมือในด้านเศรษฐกิจ
อาเซียนก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม โดยผู้นำอาเซียนได้เห็นพ้องต้องกันที่จะจัดตั้งประชาคมอาเซียน (ASEAN Community : AC) ที่ประกอบด้วย 3 เสาหลัก อันได้แก่ ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน (ASEAN Political-Security Community – ASC) ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community-AEC) ประชาคมสังคม-วัฒนธรรมอาเซียน (ASEAN Socio-Cultural Community – ASCC) และเร่งรัดกระบวนการสร้างประชาคมอาเซียนให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ. 2558
ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจของอาเซียนเริ่มมีเป้าหมายชัดเจนที่จะนำไปสู่การรวมตัวทางเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียน นับตั้งแต่การประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 4 ณ ประเทศสิงคโปร์ เมื่อปี 2535 โดยได้มีการจัดตั้งเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ขึ้น และนับแต่นั้นมากิจกรรมของอาเซียนได้ขยายครอบคลุมไปสู่ทุกสาขาหลักทางเศรษฐกิจ รวมทั้งในด้านการค้าสินค้าและบริการการลงทุน มาตรฐานอุตสาหกรรมและการเกษตร ทรัพย์สินทางปัญญา การขนส่ง พลังงาน และการเงินการคลัง เป็นต้น ความร่วมมือทางเศรษฐกิจของอาเซียนที่สำคัญ มีดังนี้
1. เขตการค้าเสรีอาเซียน (ASEAN Free Trade Area หรือ AFTA)
ข้อตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน หรือ AFTA เป็นข้อตกลงทางการค้าสำหรับสินค้าที่ผลิตภายในประเทศสมาชิกอาเซียนทั้งหมด ทำขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอาเซียน ในฐานะที่เป็นการผลิตที่สำคัญในการป้อนสินค้าสู่ตลาดโลก โดยอาศัยการเปิดเสรีด้านการค้า การลดภาษี และยกเลิกอุปสรรคข้อกีดขวางทางการค้าที่มิใช่ภาษี เช่น การจำกัดโควต้านำเข้า รวมทั้งการปรับเปลี่ยนโครงสร้างภาษีศุลกากรเพื่อเอื้ออำนวยต่อการค้าเสรี โดยข้อตกลงนี้จะครอบคลุมสินค้าทุกชนิด ยกเว้นสินค้าที่มีผลกระทบต่อความมั่นคง ศีลธรรม ชีวิต และศิลปะ อย่างไรก็ตามประเทศสมาชิกต้องให้สิทธิประโยชน์ทางศุลกากรแก่กันแบบต่างตอบแทน หมายความว่าการที่ได้สิทธิประโยชน์จากการลดภาษีของประเทศอื่นสำหรับสินค้าชนิดใด ประเทศสมาชิกนั้นต้องประกาศลดภาษีสำหรับสินค้าชนิดเดียวกัน
2. เขตการลงทุนอาเซียน (ASEAN Investment Area หรือ AIA)
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 5 เมื่อเดือนธันวาคม 2538 ที่กรุงเทพฯ ได้เห็นชอบให้จัดตั้งเขตการลงุทุนอาเซียนเพื่อเสริมสร้างอาเซียนให้เป็นเขตการลงทุนเสรีที่มีศักยภาพ โปร่งใส เพื่อดึงดูดนักลงทุนทั้งจากภายในและภายนอกภูมิภาค ความตกลงนี้ครอบคลุมการลงทุนในอุตสาหกรรม 5 สาขา คือ สาขาอุตสาหกรรมการผลิต เกษตร ประมง ป่าไม้ และเหมืองแร่ และภาคบริการที่เกี่ยวเนื่องกับ 5 สาขาการผลิตดังกล่าวยกเว้นการลงทุนด้านหลักทรัพย์และการลงทุนในด้านซึ่งครอบคลุมโดยความตกลงอาเซียนอื่น ๆเขตการลงทุนอาเซียน กำหนดให้ประเทศสมาชิกดำเนินการเปิดอุตสาหกรรมและให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติแก่นักลงทุนอาเซียนและนักลงทุนนอกอาเซียน โดยกำหนดเป้าหมายจะเปิดเสรีด้านการลงทุนแก่นักลงทุนอาเซียนภายในปี 2553 และนักลงทุนนอกอาเซียนภายในปี 2563การดำเนินการเพื่อจัดตั้งเขตการลงทุนอาเซียนประกอบด้วยโครงการความร่วมมือ 3 โครงการ คือ
- โครงการความร่วมมือและการอำนวยความสะดวก (Co-operation and Facilitation Programme)
- โครงการส่งเสริมและสร้างความเข้าใจ (Promotion and Awareness Programme)
- การเปิดเสรี (Liberalisation Programme)
3. ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration หรือ IAI)
อาเซียนได้ดำเนินการเพื่อเร่งรัดการรวมตัวของประเทศสมาชิกอาเซียน โดยจัดทำ ความริเริ่มเพื่อการรวมตัวของอาเซียน” (Initiative for ASEAN Integration) เพื่อลดช่องว่างด้านการพัฒนาระหว่างประเทศสมาชิกเก่า (ไทย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ บรูไน อินโดนีเซีย) กับสมาชิกใหม่ของอาเซียน (พม่า ลาว กัมพูชา และเวียดนาม) โดยให้ประเทศสมาชิกเก่าร่วมกันจัดทำโครงการให้ความช่วยเหลือแก่ประเทศใหม่ ครอบคลุม 4 ด้าน ได้แก่ โครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร การรวมตัวทางเศรษฐกิจ เพื่อที่จะช่วยการพัฒนากรอบกฎระเบียบและนโยบาย รวมทั้งช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของประเทศ CLMV ในการลดปัญหาความยากจน ยกระดับความเป็นอยู่ของประชากร พัฒนาระบบข้าราชการ และเตรียมความพร้อมต่อการแข่งขันบนเวทีโลก
4. ความร่วมมือด้านอุตสาหกรรม (ASEAN Industrial Cooperation Scheme หรือ AICO)
โครงการความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมของอาเซียน หรือ AICO มุ่งส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมที่ใช้เทคโนโลยีเป็นฐานการผลิต โดยยึดหลักของการใช้ทรัพยากรร่วมกัน การแบ่งส่วนการผลิตตามความสามารถและความถนัด ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนและการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทั้งประเทศสมาชิกและประเทศนอกกลุ่มโดยใช้มาตรการทางภาษี และสิทธิพิเศษอื่นๆ ที่มิใช่ภาษีเป็นสิ่งจูงใจ โดยมีเงื่อนไขดังนี้
4.1 จะต้องมีประเทศสมาชิกเข้าร่วมอย่างน้อย 2 ประเทศ
4.2 มีบริษัทเข้าร่วมอย่างน้อย 1 บริษัทในแต่ละประเทศ
4.3 สินค้าที่ผลิตได้ขั้นสุดท้าย (AICO Final Product) จะได้รับการยอมรับเสมือนสินค้าที่ผลิตได้ในประเทศและจะไม่ถูกจำกัดด้วยระบบโควต้าหรือมาตรการกีดกันทางการค้าที่มิใช่ภาษี
4.4 บริษัทที่จะขอรับสิทธิประโยชน์จาก AICO จะต้องมีสัดส่วนการถือหุ้นของคนชาติอาเซียนอย่างน้อยร้อยละ 30
4.5 ได้รับการลดภาษีนำเข้าในอัตราร้อยละ 0 – 5
5. กรอบความตกลงด้านการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services หรือ AFAS)
ในที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 5 เดือนธันวาคม 2538 ที่กรุงเทพฯ รัฐมนตรีเศรษฐกิจ ของประเทศสมาชิกอาเซียนได้ลงนามในกรอบความตกลงว่าด้วยการค้าบริการของอาเซียน หรือ AFAS) ซึ่งกำหนดให้เจรจาเปิดเสรีการค้าบริการ โดยจัดทำข้อผูกพันในด้านการเปิดตลาด (market access) การให้การปฏิบัติเยี่ยงคนชาติ (National Treatment) และด้านอื่นๆ(additional commitments) การเจรจาเสรีการค้าบริการในช่วงปี 2539-2544 มุ่งเน้นการเปิดเสรีใน 7 สาขาบริการ
คือ สาขาการเงิน การขนส่งทางทะเล การขนส่งทางอากาศ การสื่อสารโทรคมนาคม การท่องเที่ยว การก่อสร้าง และสาขาบริการธุรกิจ ต่อมาในช่วงปี 2545-2549 ได้มีการขยายขอบเขตการเจรจาเปิดเสรีรวมทุกสาขา นอกจากนี้ สมาชิกอาเซียนยังต้องเร่งรัดเปิดตลาดในสาขาบริการที่เป็นสาขาสำคัญ 5สาขา ได้แก่ สาขาโทรคมนาคมและเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ สาขาการท่องเที่ยว สาขาการบิน และสาขาบริการโลจิสติกส์ ทั้งนี้เพื่อให้อาเซียนมีความพร้อมในการก้าวไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนในปี 2558 ต่อไป
6. ความร่วมมือด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์ (e-ASEAN Framework Agreement)
ในการประชุมสุดยอดอาเซียนอย่างไม่เป็นทางการ ครั้งที่ 4 ระหว่างวันที่ 24-25พฤศจิกายน 2543 ที่ประเทศสิงคโปร์ ผู้นำของอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ร่วมกันลงนามในกรอบความตกลงด้านอิเล็กทรอนิกส์ของอาเซียน (e-ASEAN Framework Agreement) ซึ่งเป็นข้อตกลงที่กำหนดแนวทางเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร (Information Technology and Communication-ICT) เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและสื่อสาร ในภูมิภาคให้สอดคล้องกันและเป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยมีมาตรการที่ครอบคลุมด้านต่าง ๆ 5 ด้าน คือ
6.1 การพัฒนาเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของอาเซียน(ASEAN Information Infrastructure) ให้สามารถติดต่อถึงกันได้อย่างทั่วถึงกันและด้วยความเร็วสูงและพัฒนาความร่วมมือไปสู่การจัดตั้งห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ (Digital Libraries) และแหล่งรวมข้อมูลท่องเที่ยวอิเล็กทรอนิกส์ (Tourism Portals) รวมถึงการจัดตั้งศูนย์กลางการแลกเปลี่ยนข้อมูล (Internet Exchanges) และการให้บริการเชื่อมสัญญาณเครือข่ายข้อมูลอินเตอร์เน็ต (Internet Gateways)
6.2 การอำนวยความสะดวกด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) โดยการออกกฏหมายและระเบียบด้านพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ที่สอดคล้องกับมาตรฐานระหว่างประเทศ และมีระบบรักษาความปลอดภัยที่เป็นมาตรฐานสากล เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่ผู้บริโภคและพัฒนาวัฒนธรรมในการทำธุรกิจโดยใช้อิเล็กทรอนิกส์ เช่น การยอมรับลายมือชื่อเล็กทรอนิกส์ซึ่งกันและกัน การชำระเงินโดยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาและข้อมูลส่วนบุคคล เป็นต้น
6.3 ส่งเสริม และเปิดเสรีด้านการค้าสินค้า บริการ และการลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยประเทศสมาชิกอาเซียนจะยกเลิกภาษีและอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีสำหรับสินค้า ICT เช่น เครื่องประมวลผลอัตโนมัติ เครื่องโทรสาร เครื่องบันทึกเสียงสำหรับโทรศัพท์ ไดโอดและทรานซิสเตอร์ แผงวงจรไฟฟ้า ฯลฯ ภายในปี 2548 สำหรับประเทศสมาชิกอาเซียนดั้งเดิม 6 ประเทศ และภายในปี 2553 สำหรับประเทศสมาชิกใหม่ คือ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม
6.4 สร้างสังคมอิเล็กทรอนิกส์ (e-Society) เสริมสร้างความสามารถและพัฒนาอิเล็กทรอนิกส์เพื่อประโยชน์ต่อสังคม ส่งเสริมการพัฒนาความรู้ความสามารถด้าน IT ของบุคลากรในอาเซียน ลดความเหลื่อมล้ำด้าน IT ภายในประเทศและระหว่างประเทศสมาชิก อำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงานด้าน IT อย่างเสรี และส่งเสริมการใช้ IT
6.5 สร้างรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (e-Government) ส่งเสริมให้มีการใช้ ICT ในการบริการของภาครัฐให้มากขึ้น เช่น การจัดซื้อจัดจ้างโดยรัฐ การอำนวยความสะดวกในเรื่องข้อมูลข่าวสารการให้บริการของภาครัฐผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เช่น การเสียภาษี การจดทะเบียนการค้า พิธีการศุลกากรเป็นต้น
7. ความร่วมมือด้านการเงินการคลัง (Financial Cooperation)
7.1 อาเซียนได้จัดตั้งระบบระวังภัยอาเซียน (ASEAN Surveillance Process) ขึ้น เมื่อวันที่ 4 ตุลาคม 2541 เพื่อสอดส่องดูแลสภาวะเศรษฐกิจและการเคลื่อนย้ายเงินทุนในภูมิภาค โดยให้มีการหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในประเทศสมาชิกในภูมิภาค และในโลกโดยธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB) ได้สนับสนุนและให้ความช่วยเหลือทางวิชาการและเงินทุนโดยการจัดการฝึกอบรมด้านเทคนิคแก่เจ้าหน้าที่ประเทศสมาชิก และในการจัดตั้ง ASEAN Surveillance Technical Support Unit ในสำนักงานเลขาธิการอาเซียนเพื่อสนับสนุนระบบดังกล่าว
7.2 การเสริมสร้างกลไกสนับสนุนและเกื้อกูลระหว่างกันในภูมิภาคเอเชียตะวันออก (Enhancing self-help and support mechanism in East Asia) โดยได้กำหนดแนวทางความร่วมมือกับ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ ที่สำคัญ ได้แก่ จัดทำความตกลงทวิภาคีด้านการแลกเปลี่ยนการซื้อ-ขายคืนเงินตราหรือหลักทรัพย์ต่างประเทศ หารือเกี่ยวกับการจัดตั้งระบบเตือนภัยในภูมิภาค และการแลกเปลี่ยนการหารือเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจในภูมิภาค
7.3 ความริเริ่มเชียงใหม่ (Chiang Mai Initiative) ซึ่งได้จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2543 เป็นการปรับปรุงความตกลงแลกเปลี่ยนเงินตราอาเซียน (ASEAN Swap Arrangement – ASA) ในด้านโครงสร้าง รูปแบบและวงเงิน และให้เสริมด้วยเครือข่ายความตกลงทวิภาคีระหว่างประเทศอาเซียนกับจีน ญี่ปุ่นและสาธารณรัฐเกาหลี (Bilateral Swap Arrangment-BSA) โดยได้ขยายให้ ASA รวมประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศแล้ว
8. ความร่วมมือด้านการเกษตรและป่าไม้ของอาเซียน และอาเซียน +3 ครอบคลุมความร่วมมือในด้านประมง ป่าไม้ ปศุสัตว์ พืช และอาหาร เพื่อส่งเสริมความมั่นคงทางด้านอาหารและความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในด้านอาหารการเกษตรและผลผลิตป่าไม้ โครงการความร่วมมือระหว่างอาเซียนและประเทศอาเซียน+3 (จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้) ภายใต้สาขาต่างๆ ดังนี้
8.1 การขจัดความยากจนและสร้างความมั่นคงด้านอาหารในภูมิภาคเอเชีย
8.2 การวิจัยและพัฒนาด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
8.3 การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
8.4 การประสานงานและร่วมมือในระดับโลกและระดับภูมิภาคในประเด็นด้านอาหาร การเกษตร ประมง และป่าไม้
8.5 การสร้างเครือข่ายข้อมูลด้านการเกษตร
8.6 การอำนวยความสะดวกด้านการค้า

เสาหลัก 3 ความร่วมมือในด้านสังคมและวัฒนธรรม
ความร่วมมือของอาเซียนด้านสังคมและวัฒนธรรม หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า ความร่วมมือเฉพาะด้านคือ ความร่วมมือด้านอื่นๆ ที่มิใช่ด้านการเมืองและเศรษฐกิจ โดย มีวัตถุประสงค์หลัก เพื่อแก้ไขปัญหาสังคมที่ส่งผลกระทบในระดับภูมิภาค พัฒนาและเสริมสร้างสภาพชีวิตความเป็นอยู่ของประชากรในภูมิภาคให้ดีขึ้น รวมถึงลดผลกระทบทางสังคมที่เกิดจากการรวมตัวกันทางเศรษฐกิจของอาเซียน ส่งเสริมและรักษาเอกลักษณ์ ประเพณีและวัฒนธรรมที่แตกต่างกันของแต่ละประเทศ ตลอดจนส่งเสริมความเข้าใจอันดีระหว่างประชาชนในแต่ละประเทศสมาชิก
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 9 ปี 2546 ที่บาหลี ผู้นำประเทศอาเซียน เห็นชอบให้จัดตั้งประชาคมอาเซียน ซึ่งประกอบด้วย 3 เสาหลัก ได้แก่
1.ประชาคมการเมืองและความมั่นคงอาเซียน
2.ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
3.ประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ได้แก่
1. การสร้างประชาคมแห่งสังคมที่เอื้ออาทร
2. แก้ไขผลกระทบต่อสังคมอันเนื่องมาจากการรวมตัวทางเศรษฐกิจ
3. ส่งเสริมความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและการจัดการดูแลสิ่งแวดล้อมอย่างถูกต้อง
4. ส่งเสริมความเข้าใจระหว่างประชาชนในระดับรากหญ้า การเรียนรู้ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม รวมทั้งรับรู้ข่าวสารเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงเอกลักษณ์อาเซียน (ASEAN Identity)



วัตถุประสงค์ในการก่อตั้งประชาคมอาเซียน
ประชาคมอาเซียน ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์เริ่มแรกเพื่อสร้างสันติภาพในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันนำมาซึ่งเสถียรภาพทางการเมือง และความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม และเมื่อการค้าระหว่างประเทศในโลกมีแนวโน้มกีดกันการค้ารุนแรงขึ้น ทำให้อาเซียนได้หันมามุ่งเน้นกระชับและขยายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจการค้าระหว่างกันมากขึ้น วัตถุประสงค์หลักที่กำหนดไว้ในปฏิญญาอาเซียน (The ASEAN Declaration) มี 7 ประการ ดังนี้
1. ส่งเสริมความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ ความก้าวหน้าทางสังคมและวัฒนธรรม
2. ส่งเสริมการมีเสถียรภาพ สันติภาพและความมั่นคงของภูมิภาค
3. ส่งเสริมความร่วมมือทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม วิชาการ วิทยาศาสตร์ และด้านการบริหาร
4. ส่งเสริมความร่วมมือซึ่งกันและกันในการฝึกอบรมและการวิจัย
5. ส่งเสริมความร่วมมือในด้านเกษตรกรรมและอุตสาหกรรม การค้า การคมนาคม การสื่อสาร และปรับปรุงมาตรฐานการดำรงชีวิต
6. ส่งเสริมการมีหลักสูตรการศึกษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
7. ส่งเสริมความร่วมมือกับองค์กรระดับภูมิภาคและองค์กรระหว่างประเทศ
กฎบัตรอาเชียน (ASEAN Charter) คืออะไร
กฎบัตรอาเซียน เปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของอาเซียนที่จะทำให้อาเซียนมีสถานะเป็นนิติบุคคล เป็นการวางกรอบทางกฎหมายและโครงสร้างองค์กรให้กับอาเซียน โดยนอกจากจะประมวลสิ่งที่ถือเป็นค่านิยม หลักการ และแนวปฏิบัติในอดีตของอาเซียนมาประกอบกันเป็นข้อปฏิบัติอย่างเป็นทางการของประเทศสมาชิกแล้ว ยังมีการปรับปรุงแก้ไขและสร้างกลไกใหม่ขึ้น พร้อมกำหนดขอบเขตหน้าที่ความรับผิดชอบขององค์กรที่สำคัญในอาเชียนตลอดจนความสัมพันธ์ในการดำเนินงานขององค์กรเหล่านี้ ให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงในโลกปัจจุบัน เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของอาเซียนให้สามารถดำเนินการบรรลุตามวัตถุประสงค์และเป้าหมายโดยเฉพาะอย่างยิ่งการขับเคลื่อนการรวมตัวของประชาคมอาเซียน ให้ได้ภายในปี พ.ศ.2558 ตามที่ผู้นำอาเซียนได้ตกลงกันไว้
ทั้งนี้ผู้นำอาเซียนได้ลงนามรับรองกฎบัตรอาเซียน ในการประชุมสุดยอดยอดเซียน ครั้งที่ 13เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2550 ณ ประเทศสิงคโปร์ ในโอกาสครบรอบ 40 ของการก่อตั้งอาเซียน แสดงให้เห็นว่าอาเซียนกำลังแสดงให้ประชาคมโลกได้เห็นถึงความก้าวหน้าของอาเซียนที่กำลังจะก้าวเดินไปด้วยกันอย่างมั่นใจระหว่างประเทศสมาชิกต่าง ๆ ทั้ง 10 ประเทศ และถือเป็นเอกสารประวัติศาสตร์ชิ้นสำคัญที่จะปรับเปลี่ยนอาเซียนให้เป็นองค์กรที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลในฐานะที่เป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล ประเทศสมาชิกได้ให้สัตยาบันกฎบัตรอาเซียน ครบทั้ง 10 ประเทศแล้วเมื่อวันที่ 15 พฤศจิกายน2551 กฎบัตรอาเซียนจึงมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 2551 เป็นต้นไป
วัตถุประสงค์ของกฎบัตรอาเซียน
วัตถุประสงค์อของกฎบัตรอาเซียน คือ ทำให้อาเซียนเป็นองค์กรที่มีประสิทธิกาพ มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง และเคารพกฎกติกาในการทำงานมากขึ้น นอกจากนี้ กฎบัตรอาเซียนจะให้สถานะนิติบุคคลแก่อาเซียนเป็นองค์กรระหว่างรัฐบาล (intergovernmental organization)
โครงสร้างและสาระสำคัญของกฎบัตรอาเซียน
กฏบัตรอาเชียน ประกอบด้วยบทบัญญัติ 13 หมวด 55 ข้อ ได้แก่
หมวดที่ 1 ความมุ่งประสงค์และหลักการของอาเซียน
หมวดที่ 2 สภาพบุคคลตามกฏหมายของอาเชียน
หมวดที่ 3 สมาชิกภาพ (รัฐสมาชิก สิทธิและพันธกรณีของรัฐสมาชิก และการรับสมาชิกใหม่
หมวดที่ 4 โครงสร้างองค์กรของอาเซียน
หมวดที่ 5 องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับอาเซียน
หมวดที่ 6 การคุ้มกันและเอกสิทธิ์
หมวดที่ 7 กระบวนการตัดสินใจ
หมวดที่ 8 การระงับข้อพิพาท
หมวดที่ 9 งบประมาณและการเงิน
หมวดที่ 10 การบริหารและขั้นตอนการดำเนินงาน
หมวดที่ 11 อัตลักษณ์และสัญลักษณ์ของอาเซียน
หมวดที่ 12 ความสัมพันธ์กับภายนอก
หมวดที่ 13 บทบัญญัติทั่วไปและบทบัญญัติสุดท้าย
กฎบัตรอาเชียนช่วยให้อาเซียนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น เสริมสร้างกลไกการติดตามความตกลงต่างๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรม และผลักดันอาเซียนให้เป็นประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง
กฎบัตรอาเชียนช่วยให้อาเซียนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้อย่างไร มีข้อกำหนดใหม่ๆ ที่ช่วยปรับปรุงโครงสร้างการทำงานและกลไกต่างๆ ของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเพิ่มความยืดหยุ่นในการแก้ไขปัญหา เช่น
1. กำหนดให้เพิ่มการประชุมสุดยอดอาเซียนจากเดิมปีละ 1 ครั้ง เป็นปีละ 2 ครั้ง เพื่อให้ผู้นำมีโอกาสหารือกันมากขึ้น พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงเจตจำนงทางการเมืองที่จะผลักดันอาเซียนไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมในอนาคต
2. มีการตั้งคณะมนตรีประจำประชาคมอาเซียนตามเสาหลักทั้ง 3 ด้าน คือ การเมืองความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม
3. กำหนดให้ประเทศสมาชิกแต่งตั้งเอกอัคราชฑูตประจำอาเซียนไปประจำที่กรุงจาการ์ตา ซึ่งไม่เพียงแต่จะแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจแนวแน่ของอาเซียนที่จะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดเพื่อมุ่งไปสู่การรวมตัวกันเป็นประชาคมอาเซียนในอนาคต และยังช่วยลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปร่วมประชุมและเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการประสานงานระหว่างประเทศสมาชิก
4. หากประเทศสมาชิกไม่สามารถตกลงกันได้โดยหลักฉันทามติ ให้ใช้การตัดสินใจรูปแบบอื่นๆ ได้ตามที่ผู้นำกำหนด
5. เพิ่มความยืดหยุ่นในการตีความหลักการไม่แทรกแซงกิจการภายใน โดยมีข้อกำหนดว่าหากเกิดปัญหาที่กระทบต่อผลประโยชน์ส่วนร่วมของอาเซียน หรือเกิดสถานการณ์ฉุกเฉิน ประเทศสมาชิกต้องหารือกันเพื่อแก้ปัญหา และกำหนดให้ประธานอาเซียนเสนอวิธีการแก้ไขปัญหาดังกล่าว
กฎบัตรอาเซียนจะเสริมสร้างกลไกการติดตามความตกลงต่างๆ ให้มีผลเป็นรูปธรรม
กฎบัตรอาเซียนสร้างกลไกตรวจสอบและติดตามการดำเนินการตามความตกลงต่างๆ ของประเทศสมาชิกในหลากหลายรูปแบบ เช่น
1. ให้อำนาจเลขาธิการอาเซียนดูแลการปฏิบัติตามพันธกรณีและคำตัดสินขององค์กรระงับข้อพิพาท
2. หากการปฏิบัติหรือไม่ปฏิบัติตามข้อตกลงต่างๆ ทำให้เกิดข้อพิพาทระหว่างรัฐสมาชิกสามารถใช้กลไกและขั้นตอนระงับข้อพิพาททั้งที่มีอยู่แล้ว และที่จะตั้งขึ้นใหม่เพื่อแก้ไขข้อพิพาทที่เกิดขึ้นโดยสันติวิธี
3. หากมีการละเมิดพันธกรณีในกฎบัตรฯ อย่างร้ายแรง ผู้นำอาเซียนสามารถกำหนดมาตรการใดๆ ที่เหมาะสมว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อรัฐผู้ละเมิดพันธกรณีกฎบัตรอาเซียนช่วยให้อาเซียนเป็นประชาคมเพื่อประชาชนได้อย่างไรข้อบทต่างๆ ในกฎบัตรอาเซียนแสดงให้เห็นว่าอาเซียนกำลังผลักดันองค์กรให้เป็นประชาคมเพื่อประชาชนอย่างแท้จริง จึงกำหนดให้การลดความยากจนและลดช่องว่างการพัฒนาเป็นเป้าหมายหนึ่งของอาเซียนกฎบัตรอาเซียนเปิดโอกาสให้ภาคประชาชนและภาคประชาสังคมเข้ามามีส่วนร่วมในอาเซียนผ่านการมีปฏิสัมพันธ์กับองค์กรต่างๆ ของอาเซียนมากขึ้น ทั้งยังกำหนดให้มีความร่วมมือระหว่างอาเซียนกับสมัชชารัฐสภาอาเซียน ซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างรัฐสภาของประเทศสมาชิกกำหนดให้มีการจัดตั้งกลไกสิทธิมนุษยชนของอาเซียน เพื่อส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชน
 ความสำคัญของกฎบัตรอาเซียนต่อประเทศไทย          
กฎบัตรอาเซียน ให้ความสำคัญกับการปฏิบัติตามพันธกรณีต่างๆ ของประเทศสมาชิก ซึ่งจะช่วยสร้างเสริมหลักประกันให้กับไทยว่า จะสามารถได้รับผลประโยชน์ตามที่ตกลงกันไว้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย นอกจากนี้ การปรับปรุงการดำเนินงานและโครงสร้างองค์กรของอาเซียนให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเสริมสร้างความร่วมมือในทั้ง 3 เสาหลักของประชาคมอาเซียนจะเป็นฐานสำคัญที่จะทำให้อาเซียนสามารถตอบสนองต่อความต้องการและผลประโยชน์ของรัฐสมาชิก รวมทั้งยกสถานะและอำนาจต่อรอง และภาพลักษณ์ของประเทศสมาชิกในเวทีระหว่างประเทศได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้ไทยสามารถผลักดันและได้รับผลประโยชน์ด้านต่างๆ เพิ่มมากขึ้นด้วย ตัวอย่างเช่น
- อาเซียนขยายตลาดให้กับสินค้าไทยจากประชาชนไทย 60 ล้านคน เป็นประชาชนอาเซียนกว่า 550 ล้านคน ประกอบกับการขยายความร่วมมือเพื่อเชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐาน เช่น เส้นทางคมนาคม ระบบไฟฟ้า โครงข่ายอินเตอร์เน็ต ฯลฯ จะช่วยเพิ่มโอกาสทางการค้าและการลงทุนให้กับไทย
นอกจากนี้ อาเซียนยังเป็นทั้งแหล่งเงินทุนและเป้าหมายการลงทุนของไทย และไทยได้เปรียบประเทศสมาชิกอื่นๆ ที่มีที่ตั้งอยู่ใจกลางอาเซียน สามารถเป็นศูนย์กลางทางการคมนาคมและขนส่งของประชาคม ซึ่งมีการเคลื่อนย้ายสินค้า บริการ และบุคคล ระหว่างประเทศสมาชิกที่สะดวกขึ้น
- อาเซียนช่วยส่งเสริมความร่วมมือในภูมิภาคเพื่อเผชิญกับภัยคุกคามที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนโดยตรง เช่น SARs ไข้หวัดนก การค้ามนุษย์ ภัยพิบัติทางธรรมชาติ หมอกควัน ยาเสพติดปัญหาโลกร้อน และปัญหาความยากจน เป็นต้น
- อาเซียนจะช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองของไทยในเวทีโลก และเป็นเวทีที่ไทยสามารถใช้ในการผลักดันให้มีการแก้ไขปัญหาของเพื่อนบ้านที่กระทบมาถึงไทยด้วย เช่น ปัญหาพม่า ในขณะเดียวกันความสัมพันธ์พหุภาคีในกรอบอาเซียนจะเกื้อหนุนความสัมพันธ์ของไทยในกรอบทวิภาคี เช่น ความร่วมมือกับมาเลเซียในการแก้ไขปัญหา 3 จังหวัดชายแดนใต้ด้วย







โครงสร้างและกลไกการดำเนินงานขององค์กรของอาเซียน
กฎบัตรอาเซียน ซึ่งเปรียบเสมือนกฎหมายสูงสุดของอาเซียน ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 ธันวาคม 2551 เป็นเอกสารหลักที่กำหนดโครงสร้างองค์กรของอาเซียน ไว้ในหมวดที่ 4 ดังนื้
1. ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit)
ที่ประชุมสุดยอดอาเซียน (ASEAN Summit) ประกอบด้วย ประมุขหรือหัวหน้ารัฐบาล มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายสูงสุดและแนวทางความร่วมมือของอาเซียน และตัดสินใจในเรื่องสำคัญ โดยให้ประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียนเป็นเจ้าภาพจัดการประชุม 2 ครั้งต่อปี หรือเรียกประชุมพิเศษหรือเฉพาะกิจเมื่อมีความจำเป็น
2. คณะมนตรีประสานงานอาเซียน (ASEAN Coordinating Councils : ACCs)
คณะมนตรีประสานงานอาเซียน ประกอบด้วยรัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ทำหน้าที่เตรียมการประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานงานความตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ประสานงานระหว่าง 3 เสาหลัก ดูแลการดำเนินงานและกิจการต่างๆ ของอาเซียนในภาพรวม คณะมนตรีประสานงานอาเซียนจะมีการประชุมกันอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี
3. คณะมนตรีประชาคมอาเซียน (ASEAN Community Councils)
คณะมนตรีประชาคมอาเซียนประกอบด้วย คณะมนตรีประชาคม 3 เสาหลัก อันได้แก่คณะมนตรีการเมืองและความมั่นคงอาเซียน คณะมนตรีประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน และคณะมนตรีประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน ซึ่งเป็นผู้แทนที่ประเทศสมาชิกแต่งตั้งให้เป็นผู้รับผิดชอบแต่ละเสาหลัก มีอำนาจหน้าที่ในการประสานงานและติดตามการทำงานตามนโยบาย โดยเสนอรายงานและข้อเสนอแนะต่อที่ประชุมผู้นำ มีการประชุมอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง ประธานการประชุมเป็นรัฐมนตรีที่เหมาะสมจากประเทศสมาชิกซึ่งเป็นประธานอาเซียน
4. องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา (ASEAN Sectoral Ministerial Bodies)
องค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา(เช่น ด้านสาธารณสุข ด้านกลาโหม ด้านการศึกษา ฯลฯ) ประกอบด้วยรัฐมนตรีเฉพาะสาขา มีหน้าที่ปฏิบัติตามข้อตกลงและข้อตัดสินใจของที่ประชุมสุดยอดอาเซียนที่อยู่ในขอบข่ายการดำเนินงานของตน และเสริมสร้างความร่วมมือในสาขาของแต่ละองค์กรให้เข้มแข็งขึ้น เพื่อสนับสนุนการรวมตัวของประชาคมอาเซียน
5. เลขาธิการอาเซียนและสำนักเลขาธิการอาเซียน (Secretary-General of ASEAN and ASEAN Secretariat)
สำนักเลขาธิการอาเซียนได้จัดตั้งขึ้นตามข้อตกลงที่ลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนในระหว่างการประชุมสุดยอดอาเซียน ครั้งที่ 1 ในปี 2519 เพื่อทำหน้าที่ประสานงานและดำเนินงานตามโครงการและกิจกรรมต่างๆ ของสมาคมอาเซียน และเป็นศูนย์กลางในการติดต่อระหว่างสมาคมอาเซียน คณะกรรมการ ตลอดจนสถาบันต่าง ๆ และรัฐบาลของประเทศสมาชิกสำนักเลขาธิการอาเซียนตั้งอยู่ที่กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย โดยมีหัวหน้าสำนักงาน เรียกว่า เลขาธิการอาเซียน” (ASEAN Secretary-General) ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดยที่ประชุมสุดยอดอาเซียน โดยมีวาระการดำรงตำแหน่ง 5 ปี และต้องได้รับเลือกจากคนชาติของรัฐสมาชิก โดยหมุนเวียนตามลำดับตัวอักษร ผู้ดำรงตำแหน่งเลขาธิการอาเซียนคนปัจจุบันเป็นคนไทย คือ ดร. สุรินทร์ พิศสุวรรณ ซึ่งมีวาระดำรงตำแหน่งระหว่างปี ค.ศ. 2008-2012 (พ.ศ. 2551-2555)
6. คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน (Committee of Permanent Representatives to ASEAN)
คณะกรรมการผู้แทนถาวรประจำอาเซียน เป็นผู้แทนระดับเอกอัคราชฑูตที่แต่งตั้งจากประเทศสมาชิกให้ประจำที่สำนักงานใหญ่อาเซียน กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย มีหน้าที่สนับสนุนการทำงานของคณะมนตรีประชาคมอาเซียนและองค์กรระดับ รัฐมนตรีเฉพาะสาขา ประสานงานกับเลขาธิการสำนักงานอาเซียนและสำนักงานเลขาธิการอาเซียนในเรื่องที่เกี่ยวข้อง และประสานงานกับสำนักงานเลขาธิการอาเซียนแห่งชาติและองค์กรระดับรัฐมนตรีอาเซียนเฉพาะสาขา
7. สำนักงานอาเซียนแห่งชาติ หรือกรมอาเซียน (ASEAN National Secretariat)
เป็นหน่วยงานระดับกรมในกระทรวงการต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน ซึ่งแต่ละประเทศได้จัดตั้งขึ้นเพื่อทำหน้าที่รับผิดชอบประสานงาน สนับสนุนภารกิจและความร่วมมือต่าง ๆ เกี่ยวกับอาเซียนในประเทศนั้น ๆ สำหรับประเทศไทยหน่วยงานที่รับผิดชอบ คือ กรมอาเซียน กระทรวงการต่างประเทศ


8. องค์กรสิทธิมนุษยชนอาเซียน (ASEAN Human Rights Body)
 เป็นองค์กรที่จัดตั้งขึ้นโดยความประสงค์และหลักการของกฎบัตรอาเซียนเกี่ยวกับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและเสรีภาพขั้นพื้นฐาน ซึ่งคณะทำงานและอำนาจหน้าที่จะได้กำหนดโดยที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนต่อไป
9. มูลนิธิอาเซียน (ASEAN Foundation)
มูลนิธิอาเซียนสนับสนุนเลขาธิการอาเซียนและดำเนินการร่วมกับองค์กรของอาเซียนที่เกี่ยวข้องในการสนับสนุนการสร้างประชาคมอาเซียน โดยการส่งเสริมความสำนึกที่เพิ่มขึ้นเกี่ยวกับอัตลักษณ์ของอาเซียน การมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างประชาชน การดำเนินงานร่วมกันที่ใกล้ชิดระหว่างภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้เสียอื่นๆ ในอาเซียน
อาเซียน (ป้ายจราจร สัญญาณ และระบบหมายเลข)
ให้เป็นแบบเดียวกันโดยกำหนดมาตรฐานทางหลวงอาเซียน เป็น 4 ระดับ ได้แก่
- ชั้นพิเศษ-ทางด่วน ที่ควบคุมทางเข้า-ออก สมบูรณ์แบบ
- ชั้นที่ 1 ทางหลวง 4 ช่องจราจร
- ชั้นที่ 2 ทางหลวงลาดยาง 2 ช่องจราจร ผิวทางกว้าง 7 เมตร
- ชั้นที่ 3 ทางหลวงลาดยาง 2 ช่องจราจร ผิวทางกว้าง 6 เมตร
แผนงานการจัดตั้งประชาคมสังคมและวัฒนธรรมอาเซียน
 ประกอบด้วยความร่วมมือในด้านต่างๆ 6 ด้าน
1. การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Development) ให้ความสำคัญกับการศึกษาการลงทุนในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ ส่งเสริมการจ้างงานที่เหมาะสม ส่งเสริมเทคโนโลยีสารสนเทศการอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเชิงประยุกต์เสริมสร้างทักษะในการประกอบการสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ พัฒนาสมรรถภาพของระบบราชการ ความร่วมมือในด้านนี้
2. การคุ้มครองและสวัสดิการสังคม (Social Welfare and Protection) ได้แก่ การขจัดความยากจน เครือข่ายความปลอดภัยทางสังคมและความคุ้มกันจากผลกระทบด้านลบจากการรวมตัวอาเซียนและโลกาภิวัฒน์ ส่งเสริมความมั่นคงและความปลอดภัยด้านอาหาร การเข้าถึงการดูแลสุขภาพและส่งเสริมการดำรงชีวิตที่มีสุขภาพ การเพิ่มศักยภาพในการควบคุมโรคติดต่อ รับประกันอาเซียนที่ปลอดยาเสพติด การสร้างรัฐที่พร้อมรับกับภัยพิบัติและประชาคมที่ปลอดภัยยิ่งขึ้น
3. สิทธิและความยุติธรรมทางสังคม (Social Justice and Rights) ได้แก่ การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิและสวัสดิการสำหรับสตรี เยาวชน ผู้สูงอายุ และผู้พิการ การคุ้มครองและส่งเสริมแรงงานโยกย้ายถิ่นฐาน ส่งเสริมความรับผิดชอบต่อสังคมขององค์กรธุรกิจ
4. ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability) ได้แก่ การจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมของโลก การจัดการและการป้องกันปัญหามลพิษทางสิ่งแวดล้อมข้ามแดน ส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนโดยการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมและการมีส่วนร่วมของประชาชน ส่งเสริมเทคโนโลยีด้านสิ่งแวดล้อม ส่งเสริมคุณภาพมาตรฐานการดำรงชีวิตในเขตเมือง การประสานนโยบายด้านสิ่งแวดล้อมและฐานข้อมูล ส่งเสริมการใช้ทรัพยากรชายฝั่ง และทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ส่งเสริมการจัดการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และความหลากหลายทางชีวภาพอย่างยั่งยืน ส่งเสริมความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำจืด การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการจัดการต่อผลกระทบ ส่งเสริมการบริหารจัดการป่าไม้อย่างยั่งยืน
5. การสร้างอัตลักษณ์อาเซียน (Building an ASEAN Identity) ส่งเสริมการตระหนักรับรู้เกี่ยวกับอาเซียนและความรู้สึกของการเป็นประชาคม การส่งเสริมและการอนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของอาเซียน ส่งเสริมการสร้างสรรค์ด้านวัฒนธรรมและอุตสาหกรรม การมีส่วนเกี่ยวข้องกับชุมชน
6. การลดช่องว่างทางการพัฒนา (Narrowing the Development Gap) การดำเนินงานความร่วมมือเหล่านี้ อาเซียนได้ดำเนินการทั้งในรูปแบบของความตกลงในระดับต่างๆ (MOU/ Agreement/ Declaration) และโครงการความร่วมมือ ทั้งระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียนด้วยกันและ ระหว่างอาเซียนกับประเทศภายนอกภูมิภาค ซึ่งส่วนใหญ่เป็นประเทศคู่เจรจาทั้งในกรอบอาเซียน+1 และอาเซียน+3 และองค์การระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ความร่วมมือทางด้านสังคมและวัฒนธรรม
ปัญหาและอุปสรรคที่สำคัญของประชาคมอาเซียน
1. ประเทศสมาชิกอาเซียน มีสภาพภูมิศาสตร์คล้ายคลึงกัน จึงมีสินค้าเกษตรหรือแร่ธาตุที่คล้ายคลึงกัน บางครั้งจึงมีการแย่งตลาดกันเอง และสินค้าส่วนใหญ่เป็นผลผลิตทางการเกษตรที่ยังไม่ได้แปรรูป ทำให้ราคาสินค้าตกต่ำ นโยบายเขตการค้าเสรีในภูมิภาคนี้จึงดำเนินไปอย่างช้ามากจะแก้ไขปัญหานี้ได้จะต้องมีการแบ่งการผลิตตามความถนัดของแต่ละประเทศแล้วนำมาแลกเปลี่ยนกันจึงจะเกิดการรวมกลุ่มกันได้ แต่ถ้าต่างคนต่างผลิตโดยไม่มีการกำหนดมาตราฐานร่วมกันในการวางแผนการผลิตก็ถือว่าเป็นปัญหาใหญ่ในการรวมกลุ่ม
2. สินค้าอุตสาหกรรมในกลุ่มอาเซียนนั้นก็เป็นอุตสาหกรรมประเภทเดียวกัน แต่ละประเทศต่างก็มุ่งจะพัฒนาประเทศให้เป็นประเทศที่พัฒนาแล้วตามแบบอย่างตะวันตก จึงต้องมีการจัดซื้อเทคโนโลยีชั้นสูง ประเทศในกลุ่มอาเซียนที่พอจะผลิตสินค้าเทคโนโลยีได้ก็คือสิงคโปร์ แต่ประเทศสมาชิกก็เกี่ยงว่ายังไม่มีคุณภาพ จึงจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาสินค้าจากประเทศอุตสาหกรรมนอกกลุ่มอาเซียน ทำให้การค้าขายระหว่างกันในกลุ่มอาเซียนทำได้ยาก วิธีการแก้ไขจะต้องมีการแบ่งงานกันทำและยอมรับสินค้าประเทศในภูมิภาคเดียวกัน รวมทั้งจะต้องมีการพัฒนาคุณภาพสินค้าภายในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ดีขึ้น
3. ประเทศในอาเซียนพยายามพัฒนาอุตสาหกรรมภายในประเทศเพื่อทดแทนการนำเข้า แต่ละประเทศพยายามส่งเสริม พัฒนา และคุ้มครองอุตสาหกรรมในประเทศตน โดยการใช้กำแพงภาษีหรือกำหนดโควต้า ซึ่งสวนทางกับหลักการในการรวมกลุ่มและตลาดการค้าเสรี ซึ่งเป็นประเทศสมาชิกมารวมกลุ่มกันต้องยกเลิกข้อเลือกปฏิบัติทางการค้าระหว่างประเทศเพื่อก่อให้เกิดการค้าเสรี (Free Trade) ดังนั้นข้อตกลงใน AFTA ของอาเซียนหลายข้อจึงยังไม่ได้รับการปฏิบัติ
4. ประเทศสมาชิกยังคงปกป้องผลประโยชน์แห่งชาติของตนเป็นหลัก และการหารายได้เข้าของรัฐประเทศในอาเซียนมีลักษณะเหมือนกัน คือรายได้หลักของประเทศมาจากการเก็บภาษีศุลกากรสินค้าขาเข้าและขาออก ซึ่งการรวมกลุ่มเป็นประชาคมอาเซียนให้ยกเลิกการเก็บภาษีระหว่างกันหรือเก็บภาษีให้น้อยลง แต่ประเทศสมาชิกไม่สามารถสละรายได้ในส่วนนี้ได้ เนื่องจากเป็นเงินที่ต้องนำมาพัฒนาประเทศ การรวมกลุ่มเพื่อให้เกิดการค้าเสรีระหว่างประเทศในภาคีจึงยังทำได้ยาก
5. ความแตกต่างกันทางการเมืองและการปกครอง กฎบัตรอาเซียนได้กำหนดไว้ชัดเจนถึงหลักการประชาธิปไตยและให้ประเทศสมาชิกยึดมั่นต่อรัฐบาลที่มาจากวิถีทางรัฐธรรมนูญ การสร้างประชาคมความมั่นคงอาเซียนก็จะช่วยยกระดับความร่วมมือในการส่งเสริมประชาธิปไตยของแต่ละประเทศอันมีผลต่อความสงบเรียบร้อยทางการเมืองในภูมิภาคด้วย แต่การปกครองของประเทศสมาชิกอาเซียนมีหลากหลายรูปแบบ ประกอบด้วย
5.1 แบบประชาธิปไตยในระบบรัฐสภา มี 4 ประเทศ คือ ไทย กัมพูชา สิงคโปร์ และ มาเลเซีย
5.2 ประชาธิปไตยในระบบประธานาธิบดี 2 ประเทศ คือ อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
5.3 เผด็จการสังคมนิยมคอมมิวนิสต์ 2 ประเทศ คือ ลาวและเวียดนาม
5.4 เผด็จการทหาร 1 ประเทศ คือ เมียนมาร์ หรือพม่า
5.5 สมบูรณาญาสิทธิราชย์ 1 ประเทศ คือ บรูไน
สมาชิกในกลุ่มอาเซียนมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด สมาชิกบางประเทศยังมีปัญหาด้านความเป็นประชาธิปไตย และยังปกครองในรูปแบบเผด็จการและต้องการรักษาอำนาจของตนไว้ ทำให้อาเซียนพัฒนาได้อย่างยากลำบาก
6. ความขัดแย้งระหว่างประเทศอาเซียน ประเทศสมาชิกในกลุ่มอาเซียนยังมีปัญหาความขัดแย้งระหว่างประเทศอยู่ เช่น ปัญหาพรมแดนระหว่างประเทศไทย กัมพูชา ปัญหาพรมแดนระหว่าง มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย
7. ความแตกต่างด้านสังคมและวัฒนธรรม ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นดินแดนซึ่งมีความหลากหลายทางเชื้อชาติ ศาสนา โดยสามารถแบ่งกลุ่มประเทศตามศาสนาที่ประชากรส่วนใหญ่ ของประเทศนับถือได้ ดังนี้
- ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม คือ บูรไน อินโดนีเซีย และมาเลเซีย
- ประเทศที่ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ คือ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม สิงคโปร์ และประเทศไทย
- ส่วนในฟิลิปปินส์ประชากรส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์
นอกเหนือจากความแตกต่างทางศาสนาแล้ว ปัญหาชนกลุ่มน้อยที่มีจำนวนมาก ซึ่งแน่นอนว่าย่อมจะมีความแตกต่างทางความเชื่อ วิถีชีวิต ภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีและวัฒนธรรม ก็เป็น อุปสรรคต่อการหลอมรวมสร้างความเป็นหนึ่งเดียว
การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ (Economic Integration) ภายในปี 2558
 ถือเป็นพัฒนาการของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจที่ก้าวข้ามสหภาพทางภาษีศุลกากร (Custom Union) มาเป็นตลาดร่วม (Common Market) ถือว่า มีลักษณะเฉพาะหรืออัตลักษณ์ของการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของภูมิภาคนี้ ลัดขั้นตอนของการพัฒนาสู่ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจอย่างเป็นขั้นเป็นตอน
ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนจึงมีลักษณะที่เป็นตลาดร่วม (Common Market) ทางเศรษฐกิจที่ไม่สมบูรณ์นักเมื่อเทียบกับอียู มีความชัดเจนมากขึ้นตามลำดับว่า ระบบเศรษฐกิจโลกจะมีการเคลื่อนย้ายศูนย์กลางมายังเอเชียมากขึ้นตามลำดับ ขณะที่ประเทศต่างๆ จะเดินหน้าเปิดเสรีมากขึ้นเรื่อยๆ ภาวะไร้พรมแดนจะเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นโดยทั่วไปในศตวรรษที่ 21 จะเกิดการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจขนาดใหญ่สามกลุ่ม คือ การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในภูมิเอเชียตะวันออก การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในทวีปอเมริกา การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในยุโรป ขณะที่มนุษยชาติต้องเผชิญปัญหาในระดับภูมิภาคและระดับโลกที่เป็นปัญหาร่วมกันมากขึ้น โดยเฉพาะภัยพิบัติทางธรรมชาติและภาวะโลกร้อน
กลุ่มประเทศอาเซียนได้จัดทำ แผนงานในเชิงบูรณาการในด้านเศรษฐกิจ ต่างๆ หรือ พิมพ์เขียวเพื่อจัดตั้งประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC Blueprint) โดยมีองค์ประกอบที่สำคัญ 4 เรื่อง ดังนี้
1. การเป็นตลาดและฐานการผลิตเดียว จะนำไปสู่การใช้กฎระเบียบการค้าในประเทศสมาชิกทั้งหมดเป็นอย่างเดียวกัน (Harmonization of Rules and Regulations) ทั้งในด้านมาตรฐาน คุณภาพ ราคา อัตราภาษี รวมถึงกฎระเบียบในการซื้อขาย การขจัดมาตรการและข้อกีดกันต่างๆ รวมถึงการมีมาตรการอำนวยความสะดวกทางการค้า เงื่อนไขการเคลื่อนย้ายบุคคลสัญชาติอาเซียน และประเภทบริการและการลงทุนที่เสรีมากขึ้น
2. การสร้างอาเซียนให้เป็นภูมิภาคที่มีขีดความสามารถในการแข่งขันสูง (Highly Competitive Economic Region) ในเวทีการค้าโลก ได้แก่ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน โทรคมนาคม การเงินการธนาคาร การจัดระบบการค้าให้มีการแข่งขันที่เป็นธรรม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา เป็นต้น
3. การพัฒนาทางเศรษฐกิจอย่างเท่าเทียมกันระหว่างสมาชิกอาเซียน โดยพัฒนา SMEs และเสริมสร้างขีดความสามารถผ่านโครงการความร่วมมือต่างๆ เช่น โครงการริเริ่มเพื่อการรวมกลุ่มของอาเซียน (Initiative for ASEAN Integration : IAI) ในการลดช่องว่างการพัฒนาเศรษฐกิจของแต่ละประเทศสมาชิก
4. การเชื่อมโยงของอาเซียนเข้ากับเศรษฐกิจโลก ด้วยการเน้นและปรับประสานนโยบายเศรษฐกิจอาเซียนกับประเทศนอกภูมิภาค ให้มีทำทีร่วมกัน โดยการจัดทำเขตการค้าเสรีอาเซียนกับประเทศคู่เจรจาต่างๆ เพื่อให้เครือข่ายการผลิต/จำหน่ายภายในอาเซียนเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจส่วนอื่นของโลก
อีกทั้งให้มีการเร่งรัดการดำเนินงานรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจในกลุ่มอาเซียน ทางด้านการค้า การบริการ การลงทุน แรงงาน และเงินทุน โดยมีสาระสำคัญดังนี้
1. ด้านสินค้า : มุ่งลดภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกเดิมให้เป็น 0% ภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010) และมุ่งลดภาษีสินค้าของประเทศสมาชิกใหม่ ปี 2558 (ค.ศ. 2015) รวมทั้ง ยกเลิกมาตรการ (Non-Tariff Barriers : NTBs) โดยเร็ว ตลอดจนปรับปรุงกฎว่าด้วยแหล่งกำเนิดสินค้า (Rules of Origin : ROO) และใช้พิกัดอัตราศุลกากรที่สอดคล้องกัน
2. ด้านบริการ : ยกเลิกข้อจำกัดในการประกอบการด้านการค้าบริการในอาเซียน ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020)
3. ด้านการลงทุน : เปิดให้มีการลงทุนเสรีในอาเซียนและให้ปฏิบัติต่อนักลงทุนอาเซียนเปรียบเสมือนนักลงทุนในประเทศ ภายในปี 2553 (ค.ศ. 2010)
4. ด้านแรงงาน : ให้แรงงานฝีมือ สามารถเคลื่อนย้ายภายในอาเซียนได้อย่างเสรี
5. ด้านเงินทุน : มุ่งให้มีการไหลเวียนของเงินทุนที่เสรีมากขึ้น และเร่งรัดการเปิดเสรีการค้าสินค้าและบริการให้เห็นผลชัดเจนขึ้น
ทางคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจเพื่อการปฏิรูป ม. รังสิต ได้จัดสัมมนาทางวิชาการไปเมื่อวันที่ 19 เม.ย. 2555 พบว่า มีโอกาสมากมายสำหรับประเทศไทยพร้อมทั้งความเสี่ยงและความท้าทายจำนวนมาก ขณะเดียวกัน เราอาจยังไม่มีนโยบายและยุทธศาสตร์ประชาคมเศรษฐกิจที่ชัดเจนนัก ควรเร่งจัดทำขึ้น หากเราดำเนินยุทธศาสตร์ที่ดี เชื่อว่า เราจะเป็นศูนย์กลางทางเศรษฐกิจของอาเซียนอย่างแน่นอน เพราะเรามีความได้เปรียบอย่างยิ่งในแง่ที่ตั้งทางภูมิศาสตร์
ภาคการค้าธุรกิจอุตสาหกรรมทั่วไป ไม่เป็นห่วงนัก แต่ที่นำห่วง คือ ภาคแรงงาน ภาคบริการโดยเฉพาะภาคการเงิน กล่าวถึง การเปิดเสรีการค้าบริการ อาเซียนได้เริ่มเปิดเสรีการค้าบริการภายใต้กรอบความตกลงด้านการค้าบริการ (ASEAN Framework Agreement on Services : AFAS) ในปี พ.ศ. 2539 เพื่อขจัดอุปสรรคหรือข้อจำกัดด้านการค้าบริการระหว่างกันภายในอาเซียนสำหรับการเปิดเสรีด้านบริการ แม้ว่าสิงคโปร์มีศักยภาพในด้านบริการสูงที่สุดในอาเซียน และน่าจะได้ประโยชน์มากที่สุดจากการเปิดเสรีด้านบริการ เนื่องจากสิงคโปร์มีความพร้อมทั้งทางด้านโครงสร้างพื้นฐานและเทคโนโลยี อย่างไรก็ตามไทยยังคงมีความได้เปรียบในบางสาขา เช่น การท่องเที่ยว ด้านการแพทย์และบริการด้านสุขภาพ ดังนั้น การเปิดเสรีด้านบริการจะส่งผลให้การแข่งขันในภาคบริการรุนแรงขึ้น ซึ่งจะช่วยพัฒนาและเพิ่มบทบาทของภาคบริการให้เข้ามามีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยมากขึ้น
การเปิดเสรีการค้าบริการภายใต้ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน
 มีเป้าหมาย คือ ลดอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดในด้านต่างๆ ลง และเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นให้กับบุคคล/นิติบุคคลสัญชาติอาเซียน ดังนี้
(1) สาขาบริการสำคัญ (Priority Integration Sectors: PIS) ได้แก่ สาขาเทคโนโลยีสารสนเทศ สาขาสุขภาพ สาขาการท่องเที่ยว และสาขาโลจิสติกส์
(2) สาขาบริการอื่น (Non-Priority Services Sector) ครอบคลุมบริการทุกสาขา นอกเหนือจากสาขาบริการสำคัญ (priority services sectors) และการบริการด้านการเงิน ที่กำหนดเป้าหมายการเปิดเสรีภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ทั้งนี้ สามารถยกเว้นสาขาที่อ่อนไหวได้
สำหรับสถานะล่าสุด อาเซียนได้ดำเนินการเจรจาลดข้อจำกัดด้านการค้าบริการระหว่างกันและจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดมาแล้วทั้งสิ้นรวม 7 ชุด โดยได้ลงนามพิธีสารอนุวัติข้อผูกพันการเปิดตลาดการค้าบริการ ชุดที่ 7 ไปเมื่อวันที่ 26 กุมภาพันธ์ 2552 ซึ่งในส่วนของไทยได้ผูกพันเปิดตลาดทั้งหมด 143 รายการ ครอบคลุมสาขาบริการหลัก อาทิเช่น บริการธุรกิจ (เช่น วิชาชีพวิศวกรรม สถาปัตยกรรม และบัญชี เป็นต้น) คอมพิวเตอร์และการสื่อสาร การก่อสร้าง การจัดจำหน่าย (เช่น บริการค้าส่งเครื่องกีฬา และบริการแฟรนไชส์ เป็นต้น) การศึกษาในทุกระดับ บริการด้านสุขภาพ บริการสิ่งแวดล้อม และบริการท่องเที่ยว เป็นต้น อย่างไรก็ดี ไทยยังคงสงวนเงื่อนไขต่างๆ ที่เป็นไปตามกรอบกฎหมายไทย เช่น อนุญาตให้ต่างชาติจากประเทศสมาชิกอาเซียนมีสิทธิถือหุ้นในนิติบุคคลที่เข้ามาประกอบธุรกิจในประเทศไทยได้ไม่เกินร้อยละ 49 ขณะนี้ อาเซียนอยู่ระหว่างการเจรจาจัดทำข้อผูกพันเปิดตลาดชุดที่ 8 ซึ่งมีกำหนดแล้วเสร็จในปี 2553 และยังคงต้องเจรจาเพื่อทยอยเปิดเสรีสาขาบริการอื่นๆ เพิ่มเติมจนบรรลุเป้าหมายการเปิดเสรีอย่างครบถ๎วน ในปี 2558 (ค.ศ. 2015)
(3) สาขาการบริการด้านการเงิน จะทยอยเปิดเสรีตามลำดับอย่างเป็นขั้นเป็นตอน เพื่อรักษาไว้ซึ่งความ มั่นคงทางการเงิน เศรษฐกิจและสังคม โดยประเทศที่มีความพร้อมสามารถเริ่มดำเนินการเปิดเสรีภายในปี 2558 (ค.ศ. 2015) ในสาขาที่ระบุไว้ก่อน และประเทศสมาชิกที่เหลือสามารถเข้าร่วมในภายหลัง
ในส่วนของภาคบริการทางการเงินนั้นเห็นชัดว่า จะยังไม่ได้เปิดเสรีอย่างเต็มที่ในปี พ.ศ. 2558 ขณะที่ความแข็งแกร่งและความพร้อมของธุรกิจอุตสาหกรรมการเงินการธนาคารของไทยนั้นอยู่ในอันดับ 3 รองจากสิงคโปร์และมาเลเซีย เท่านั้น

โดย: ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น